หอบาเบลกับการโกลาหลของภาษา

Kanok Leelahakriengkrai
2 min readJul 29, 2019

--

เรื่องราวของหอบาเบลถูกบันทึกไว้ในพระธรรมปฐมกาลบทที่ 10–11 ลูกหลานของโนอาห์กระจายออกไปหลังน้ำท่วมโลก สายตระกูลหนึ่งของโนอาห์คือฮาม ฮามมีลูกชื่อคูช ลูกของคูชคนหนึ่งคือนิมโรด ผู้เป็นพรานเก่งกล้าเฉพาะพระพักตร์พระเจ้า ผู้สร้างเมืองบาบิโลน สมัยนั้นผู้คนอาศัยอยู่ที่เดียวกันที่ทุ่งราบในดินแดนชินาร์แห่งนี้

ที่มาของของการสร้างหอบาเบลได้ถูกบันทึกไว้ในปฐมกาลบทที่ 11 ข้อ 4 “มาเถิด ให้เราสร้างเมืองสำหรับเรา และสร้างหอให้ยอดเทียมฟ้า ให้เราทำชื่อเสียงไว้ เพื่อเราจะไม่ถูกทำให้กระจัดกระจายไปทั่วแผ่นดิน” พระเจ้าไม่ทรงเห็นด้วยกับเหตุผลของเขา พระองค์ทรงลงมาและทำให้ภาษาของเขาวุ่นวายจนสื่อสารกันไม่ได้ ในที่สุดเขาไม่สามารถสร้างเมืองและหอบาเบลได้อีกต่อไป คนทั้งปวงจึงกระจายไปจนทั่วผืนแผ่นดิน

เรื่องราวในพระคัมภีร์เหมือนจะให้ข้อมูลเพียงเท่านี้ แต่ประเด็นนี้มีการค้นคว้าต่อจนได้เกร็ดความรู้บางอย่างจากนักศาสนศาสตร์ นักโบราณคดี และนักภาษาศาสตร์ ให้เราลองมาพิจารณากันครับ

1. บาเบล Babel เป็นคำผสมระหว่างคำว่า Bab หมายถึงประตู และ El หมายถึงพระเจ้า (god) ความหมายรวมคือ Gate of god หรือประตูของพระเจ้า คำว่าบาเบล ยังเป็นคำคล้องกับภาษาฮีบรู balal หมายถึง ความโกลาหล

2. ความสูงของหอบาเบลนับว่าเป็นสิ่งมหัศจรรย์ของโลกยุคหลังน้ำท่วมเลยก็ว่าได้ เนื่องจากการประดิษฐ์อิฐเผาไฟและเทคโนโลยีการก่อสร้าง สามารถสร้างอาคารสูงขึ้นไปจนยอดเทียมฟ้าได้ แม้ไม่มีการระบุความสูง แต่อาคารยอดเทียมฟ้าไม่ใช่อาคารเล็กๆ อย่างแน่นอน นักโบราณคดีให้ความเห็นว่าความสูงของหอบาเบล น่าจะสูงกว่าตึกที่สูงที่สุดในปัจจุบันเสียอีก

3. หอบาเบลมีบางอย่างที่น่าสนใจ การสร้างหอบาเบลมีเหตุผลแน่ชัดว่า “ให้เราทำชื่อเสียงไว้” ทัศนะของ Stedman และ Boice อธิบายเหตุผลของหอบาเบลว่า

(ก) เป็นการพัฒนาปรัชญาของมนุษยชาติคือการยกย่องความยิ่งใหญ่ของความเป็นมนุษย์ที่อยู่เหนือทุกสิ่งทุกอย่าง

(ข) เป็นการสร้างระบบความเชื่อของตนเองที่ไม่ยกย่องพระเจ้าอีกต่อไป เราพบได้จากสิ่งก่อสร้างยุคโบราณของบาบิโลน บนสุดของสิ่งก่อสร้างจะมีรูปสลักจักรราศี (Zodiac) ซึ่งถือเป็นระบบความเชื่อหรือศาสนาแรกที่เป็นการประดิษฐ์ของมนุษยชาติ

(ค) เพื่อประกาศว่าต่อไปนี้มนุษย์จะควบคุมทุกสิ่งทุกอย่างเองรวมทั้งพระเจ้าด้วย ซึ่งเป็นหนึ่งในอภิปรัชญาของสังคมศาสตร์ ไม่ยอมให้พระเจ้าเป็นเจ้านายอีกต่อไป

หอบาเบลจึงเป็นสัญลักษณ์ของการปลดแอกของมวลมนุษยชาติจากพระเจ้าพระผู้สร้างของเขา

Sumerian astrology tablet, dating from c. 2,300 BC

4. ในภาษาเดิม คำว่า สูงเทียมฟ้า ให้ความหมายว่า top will reach into the heavens คือสร้างให้ยอดสูงขึ้นไปจนถึงสวรรค์ และในภาษาฮีบรู Boice ให้ทัศนะว่า ยอดของหอบาเบลถูกสร้างเพื่อถวายแด่สวรรค์เพื่อเป็นการนมัสการ Morris ให้ทัศนะในมุมของนักโบราณคดีว่าสิ่งก่อสร้างใหญ่โตของโลกโบราณในบาบิโลนจะสะท้อนความเชื่อเรื่องโหราศาสตร์ (Astrology) และจักรราศี (Zodiac) อย่างชัดเจน

ความหมายของจักรราศีในที่นี้หมายถึงการแบ่งท้องฟ้าดวงดาวเป็นส่วนๆ และให้ส่วนต่างๆ กำหนดความเป็นไปของมนุษย์แทนที่จะเป็นพระเจ้า

สัญลักษณ์ต่างๆ ของจักรราศีล้วนมีต้นกำเนิดจากบาบิโลนโบราณทั้งสิ้น

5. ความมุ่งหมายในความชั่วร้ายของมนุษย์ทำให้เกิดการเยี่ยมเยียนของพระเจ้า พระเจ้าทรงลงมาและหยุดความตั้งใจที่ผิดนี้โดยการทำให้ภาษาของเขาวุ่นวายไป Mozeson และ Ben ให้ทัศนะในมุมของนักภาษาศาสตร์ว่า ภาษาต่างๆ ของโลกสามารถย้อนกลับไปเพื่อหาต้นตอของภาษาได้ 70 ภาษา (super-languages) จึงเป็นไปได้ว่าที่หอบาเบลภายหลังที่พระเจ้าทำลายภาษาของเขา มีภาษาใหม่เกิดขึ้น 70 ภาษาทันที

หอบาเบล ทำให้เราต้องกลับมาทบทวนตัวเองว่าการงานของเราแม้จะเป็นการรับใช้พระเจ้าหรือการงานอะไรก็ตาม เราทำเพื่อพระนามพระเจ้าหรือเพื่อนามของเราจะได้รับเกียรติ ทำเพื่อตัวเองจะเป็นที่ยกย่องหรือพระเจ้าเป็นที่ยกย่อง การเยี่ยมเยียนของพระเจ้าในการงานที่แรงจูงใจของเราไม่ถูกต้อง เป็นการเยี่ยมเยียนที่น่าสะพรึงกลัวนะครับ หอบาเบลเป็นตัวอย่างหนึ่งในตอนนี้

อ้างอิง

[1] Boice, James M. Notes on Nimrod and Babel: The First World Empire.

[2] Dolphin, Lambert. The Tower of Babel and The Confusion of Languages.

[3] Morris, Henry M. The Confusion of Tongues.

[4] Mozeson, Issac and Ben, Josua. The Origin of Speeches: From the Language of Eden to our Bable after Babble, 2004.

[5] Stedman, Ray C. The Beginnings. Waco Books, 1978.

--

--

Kanok Leelahakriengkrai
Kanok Leelahakriengkrai

Written by Kanok Leelahakriengkrai

BCC 136 / ป.ตรี ABAC / ป.โท Sasin / ป.เอก DMin AGST-BBS อ่านหนังสือ ดูหนัง ฟังเพลงเป็นชีวิตจิตใจ งานเขียนส่วนใหญ่ได้รับแรงบันดาลใจจากความสงสัยโน่นนี่ไปเรื่อย

No responses yet